วันพุธที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2553

โครงสร้างคณิตศาสตร์

หลังจากเพื่อนๆ ได้ศึกษา บทความในสองหัวข้อที่ผ่านมาแล้ว เพื่อนๆ หลายคนคงจะสงสัย เพราะนอกจากจะได้ศึกษาความหมายของคำว่าคณิตศาสตร์กันไปแล้ว ยังมีโครงสร้าง ตัวที่ก่อให้เกิดคณิตศาสตร์ ศาสตร์ที่ทำให้เราหลายคนคิดกันจนปวดหัว...... กลุ่ม we_ math ของพวกเราได้สรรหามาให้เพื่อนๆได้เรียนรู้เกี่ยวกับ โครงสร้างของคณิตศาสตร์ พร้อมแล้วลุยกันเลยค่ะ

โครงสร้างคณิตศาสตร์

1. อนิยาม (Undefined Terms) หมายถึง คำที่ไม่ต้องให้ความหมายหรือ คำจำกัดความ แต่เมื่อกล่าวถึงต้องมีความเข้าใจตรงกัน เนื่องจากมีความหมายชัดเจนอยู่ในตัวเอง เป็นคำที่ทุกคนเข้าใจตรงกันว่าหมายถึงสิ่งใด โดยอาจจะใช้วิธีการยกตัวอย่างหรือใช้ความเข้าใจด้วยปฏิภาณ ตัวอย่างของอนิยามในคณิตศาสตร์ เช่น จุด เส้นตรง เท่ากัน มากกว่า น้อยกว่า ค่าคงที่ เซต ระนาบ

2. นิยาม (Definition or Defined Terms) หมายถึง คำหรือข้อความที่มีการให้ความหมาย หรือคำจำกัดความไว้ชัดเจน โดยการนำอนิยามมาอธิบายหรือกำหนดคุณลักษณะของสิ่งเหล่านั้น เช่น มุมฉาก หมายถึง มุมที่มีขนาด 90 องศา หรือ คำว่า เส้น ไปนิยามคำว่าเส้นตรง เส้นขนาน


3. สัจพจน์ ( Axioms) หรือ กติกา (Postulate) หรือ ข้อตกลงเบื้องต้น (Assumption) หมายถึง ข้อความที่ตกลงหรือยอมรับว่าเป็นจริง โดยไม่ต้องพิสูจน์ มักจะแสดงความสัมพันธ์ของนิยามหรืออนิยาม ที่เป็นพื้นฐานมากจนไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ เช่น เส้นขนานย่อมไม่ตัดกันเลย


4. ทฤษฎีบท (Theorems) หมายถึง ผลสรุปที่ได้จากข้อมูลชุดหนึ่ง สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นจริง ทุกกรณี การพิสูจน์ทฤษฎีจะใช้วิธีการให้เหตุผลทางตรรกศาสตร์ โดยการนำเอานิยาม สัจพจน์ หรือทฤษฎีบทที่ได้พิสูจน์แล้วไปสนับสนุนให้เป็นเหตุเป็นผล เพื่อแสดงว่าทฤษฎีเป็นจริง ความเป็นจริงในทุกกรณีของทฤษฎีทางคณิตศาสตร์ หมายถึง ความสมเหตุสมผล ไม่ได้หมายถึงข้อเท็จจริง แต่ความสมเหตุ สมผล อาจจะตรงกับข้อเท็จจริงทุกกรณีก็ได้ ขึ้นอยู่กับกติกาที่ใช้เป็นฐานของทฤษฎีนั้น ถ้ากติกาตรงกับข้อเท็จจริง ทฤษฎีที่พิสูจน์โดยใช้กติกานั้นอ้างอิงเป็นเหตุเป็นผลย่อมเป็นจริง ตรงกับข้อเท็จจริงด้วย เช่น เส้นตรง สองเส้นตัดกัน มุมตรงข้ามย่อมเท่ากัน

1 ความคิดเห็น:

Uraiwan กล่าวว่า...

รวบรวมเนื้อหาได้ดีมากค่ะ ทำให้เข้าใจความหมายและโครงสร้างทางคณิตศาสตร์มากขึ้น ..ขอบคุณนะค่ะที่นำความรู้มาแบ่งปันกัน""krutooktik_คณิตศาสตร์ศึกษา 4""